
ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายมีประโยชน์ คือ
1.1 ช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เนื่องจากอินซูลินออกฤทธิ์ดีขึ้น และร่างกายใช้อินซูลินลดลง
1.2 เพิ่มสมรรถภาพการใช้ไขมันเป็นพลังงาน
1.3 ทำให้การทำงานของหัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
1.4 รู้สึกสดชื่นผ่อนคลายร่างกายมีพละกำลังและคล่องตัว
ผู้ที่เป็นเบาหวานระดับน้ำตาลในเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดวัน เนื่องจากอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อมีผลให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ขณะเดียวกัน น้ำตาลในเลือดจะถูกใช้เป็นพลังงานในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อเป็นอวัยวะสำคัญใช้กลูโคสเป็นพลังงาน ขณะเดียวกันก็เป็นอวัยวะที่เก็บกลูโคส ที่เหลือใช้จากอาหารที่รับประทาน เป็นพลังงานสำรองในรูปของไกลโคเจน การออกกำลังกายที่เหมาะสม อย่างสม่ำเสมอจะทำให้กล้ามเนื้อ สามารถใช้กลูโคสได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเก็บกักกลูโคสได้มากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
การออกกำลังกายมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
การออกกำลังกายทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย 2 ระบบ ได้แก่
- ระบบการหมุนเวียนของเลือดและการหายใจ การออกกำลังกายช่วยให้การไหลเวียนของเลือดและการขนถ่ายออกซิเจนไปสู่เนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของร่างกายดีขึ้น
- ระบบพลังงานและฮอร์โมนอินซูลิน การออกกำลังกายทำให้การใช้อินซูลินลดลงแต่ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีฮอร์โมนอื่นๆ ทำงานดีขึ้น เช่น กลูคากอน,อีพิเนฟริน มีปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อสลายกลัยโคเจนในตับ และสร้างกลูโคส ไปสู่กล้ามเนื้อมากขึ้น จึงทำให้ไขมันลดลง
การประเมินสุขภาพก่อนออกกำลังกาย
ผู้ป่วยเบาหวานมีความผิดปกติหรือความบกพร่องของอินซูลิน เป็นพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว เมื่อออกกำลังกายต้องคำนึงถึงระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าสูงกว่า 250 มก./ดล. หรือมีภาวะแทรกซ้อนในระยะรุนแรงต้องงดการออกกำลังกาย ถ้าไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ และให้คำนึงถึงเรื่องการออกฤทธิ์ของยาและการรับประทานอาหารว่าง
วิธีออกกำลังกายที่ถูกต้อง
1. ควร เริ่มที่กิจกรรมเบาๆ ปฏิบัติกิจกรรมนั้นอย่างต่อเนื่อง ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที และปฏิบัติสม่ำเสมอ อย่างน้อย 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
2. ขั้นตอนการออกกำลังกายแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
ก. ระยะอุ่นเครื่อง เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อ ใช้เวลา 5 นาที
ข. ระยะออกกำลังกาย ใช้เวลา 20 นาที
ค. ระยะผ่อนคลาย เพื่อให้ระบบต่างๆ ของร่างกายคืนสู่ภาวะปกติ ใช้เวลา 5 นาที
3. ควรเลือกประเภทที่ชอบและสนใจ ที่ให้ทั้งความสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อจะปฏิบัติได้ต่อเนื่องไม่เบื่อหน่าย
4. กิจกรรม ที่นิยมได้แก่ การเดิน วิ่งเหยาะ เต้นรำเข้าจังหวะ ว่ายน้ำ รำมวยจีน ในรายที่มีข้อจำกัดจากสภาพหัวใจ หรือโรคอื่นๆ ควรออกกำลังกายชนิดเบาๆ เช่น กายบริหารในท่ายืน ท่านั่ง หรือท่านอน เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและ การเคลื่อนไหวข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย
5. ควรกำหนดเวลาออกกำลังกายในเวลาใกล้เคียงกันเป็นประจำ
เป้าหมายการออกกำลังกายคือ ต้องการให้หัวใจทำงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 60-80 ดังนั้น ผู้ป่วยอายุ 60 ปี ควรออกกำลังกายจนอัตราชีพจร เท่ากับหรือใกล้เคียงกับ 112 ครั้ง/นาที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น